ประวัติและส่วนประกอบของฆ้องวงใหญ่

ความเป็นมาของฆ้องวงใหญ่
ฆ้องจัดได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานชนิดหนึ่ง ในบรรดาเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงกันในปัจจุบัน และเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณ เป็นเครื่องดนตรีหลักของวงดนตรีไทย ทั้งในวงมโหรี และวงปี่พาทย์ โดยฆ้องได้มีหลักฐานการค้นพบ โดยมุ่งไปที่กลองมโหระทึก กลองมโหระทึก ถูกค้นพบครั้งแรกที่บริเวณตอนใต้ของประเทศจีนแถบมณฑลยูนานและมณฑลใกล้เคียง ต่อเนื่องลงมาถึงเวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย (สมชาย รัศมี ,๒๕๔๑ : ๑๒)

สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า กลองมโหระทึกเป็นต้นกำเนิดของฆ้องก็เพราะโลหะที่ใช้ในการสร้างนั้นเอง โลหะที่ใช้ในการสร้างกลองมโหระทึก เป็นโลหะผสมแบบเดียวกับฆ้องที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน นอกจากลักษณะของเนื้อโลหะผสมแล้ว เส้นทางวิวัฒนาการของกลองมโหระทึกยังผ่านการพัฒนาเป็นเครื่องดนตรีในตระกูลเดียวกัน แต่เปลี่ยนแปลงรูปร่างที่มีทิศทางมาใกล้ฆ้องมาขึ้นนั้นคือการค้นพบ “กังสดาร” ซึ่งสร้างด้วยโลหะผสมแบบเดียวกันแต่รูปร่างเป็นแผ่นกลมขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ เมตร พบที่วัดพระธาตุหริกุญไชย ในจังหวัดลำพูน คาดว่าน่าจะอยู่ราวศตวรรษที่ ๑๓ (อภิชาต ภู่ระหงษ์๒๕๔๐: ๑๖)
             ฆ้องวงใหญ่ เป็นเครื่องดนตรีที่วิวัฒนาการมาจากฆ้องรางของอินโดนีเซีย สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนประกอบของฆ้องวงใหญ่ประกอบด้วยลูกฆ้องและวงฆ้อง ลูกฆ้องมี 16 ลูก ทำจากทองเหลือง เรียงจากลูกเล็กทางด้านขวา วงฆ้องสูงประมาณ 24  เซนติเมตร ใช้หวายโป่งทำเป็นราง ให้หวายเส้นนอกกับเส้นในห่างกัน 14 - 17 เซนติเมตร ใช้หวาย 4 อัน ด้านล่าง 2 อัน ขดเป็นวงขนานกัน เว้นที่ไว้ให้นักดนตรีเข้าไปบรรเลง
      ฆ้องวงใหญ่ เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีดำเนินทำนอง มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดำเนินทำนองหลักของเพลง ในรูปแบบการประสมวงต่าง ๆ เช่น วงปี่พาทย์เครื่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องคู่ วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ วงมโหรีเครื่องใหญ่ เป็นต้น โดยบรรเลงเป็นทำนองห่างๆ อีกทั้งยังสามารถบรรเลง เดี่ยว อวดความสามารถของนักดนตรีได้อีกด้วย
ฆ้องวงใหญ่ มีส่วนประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน ดังนี้

                ร้านฆ้อง ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
1. ร้านฆ้อง ทำด้วยหวายเป็นต้น 4 เส้น ดัดโค้ง เป็นวงกลม ใช้ 2 เส้นดัดเป็นโค้งเป็นวงนอก อีก 2 เส้นโค้งเป็นวงใน ยึดติดกับลูกมะฮวด
2. ลูกมะหวด ทำด้วยไม้กลึงให้กลมเป็นลอนขนาบด้วย ลูกแก้ว หัวท้ายบากและปาดโค้งรับกับต้นหวายเป็นระยะตลอดทั้งวง
3. โขนฆ้อง ทำด้วยไม้หนา มีลักษณะตอนกลางนูน เป็นสันเรียวแหลมเหมือนใบโพธิ์ ข้างปาดเรียวลง ยึดติดติดกับต้นหวายทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งใหญ่ อีกข้างหนึ่งเล็ก
4. ไม้ค่ำล่าง เป็นไม้ลักษณะสี่เหลี่ยมทรงแบน ยึด ติดกับหวายคู่ล่างโดยรอบ ระยะห่างพอสมควร บางวงจะใช้แผ่นโลหะตอกตะปูคลุมอีกทีหนึ่ง
5. ไม้ตะคู้ คือไม้ไผ่เล็กๆเจาะฝังเข้าไปในลูก มะหวด เพื่อกั้นสะพานหนู
6. สะพานหนู เป็นเส้นลวดสอดโค้งเป็นวงใต้ไม้ตะคู้ เพื่อไว้ผูกหนังลูกฆ้อง ด้านในและด้านนอก
7. ไม้ค้ำบน หรือ ไม้ถ่างฆ้อง เป็นไม้แผ่นบางๆปาดหัวท้ายเว้าตามเส้นหวาย เพื่อใช้ถ่างให้วงฆ้อง ให้อยู่ในสภาพเป็นวงสวยงาม ปกติลูกฆ้อง 4 ลูกจะ ใส่ไม้ถ่างฆ้อง 1 อัน ฆ้องวงใหญ่มี 16 ลูก จึงมีไม้ถ่างฆ้องวงหนึ่ง 4 อัน ที่ต้นหวายทั้ง 4 ต้นจะมีหวายผ่าซีก 2 หรือ 3 เส้นประกบโดยรอบ เพื่อรองรับหนังผูกฆ้อง และเพื่อให้สวยงาม จะกลึงเป็นเม็ดติดไว้ที่ปลายต้นหวายทั้งสี่ต้น สำหรับสมัยโบราณจะกลึงเม็ดเป็นขา ติดอยู่ที่ใต้ไม้ถ่างล่างอีกทีหนึ่ง
                   ลูกฆ้อง ทำจากโลหะชนิดต่าง ๆ ในอดีตนิยมใช้สัมฤทธิ์ (ทองแดงผสมดีบุก) ปัจจุบันนิยมใช้ทองเหลืองนำมาขึ้นรูปด้วยวิธีการตีโลหะ ในขณะที่ร้อนจัดจนเกิดรูปร่าง (เรียกว่าฆ้องตี”) หรือนำโลหะเหลวเทลงในแม่พิมพ์ (เรียกว่าฆ้องหล่อ”) ให้เกิดเป็นลูกฆ้องที่มีลักษณะเป็นวงกลม ตรงกลางกลมนูนเป็นตำแหน่งเพื่อการตี (เรียกว่า"ปุ่มฆ้อง") ด้านริมหักลงไปเป็นขอบโดยรอบ (เรียกว่า "ฉัตร") ที่ขอบฉัตรด้านข้าง เจาะรูร้อยเชือกหนังเพื่อผูกเข้ากับร้านฆ้องด้านในของลูกฆ้อง บริเวณที่เป็นปุ่มฆ้องจะหยอดตะกั่วผสมขี้ผึ้งเพื่อถ่วงเสียง ลูกฆ้องจะเรียงจากต่ำไปหาสูง ลูกฆ้องจะมีเสียง สูง ต่ำได้นั้น จะต้องปรับระดับเสียงโดยใช้วิธีใส่ตะกั่วใต้ลูกฆ้อง ถ้าตะกั่วน้อยความสั่นสะเทือนจะมาก เสียงก็จะสูง แต่ถ้าตะกั่วมากสียงก็จะต่ำ ดังนั้นเสียงลูกฆ้องจะเรียงเสียงตามลำดับจากซ้ายไปขวาของผู้นั่งตีฆ้องวงใหญ่ ในวงฆ้อง โดยลูกฆ้องลูกที่ 1 หรือที่นิยมเรียกว่า ลูกทั่ง ลูกต้น ,ลูกทวน” จะเริ่มเสียงต่ำสุดไล่ตามลำดับจนถึงลูกสุดท้ายเสียงสูงสุดเป็นลูกที่ 16 หรือที่นิยมเรียกว่า ลูกยอด
               

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แบบทดสอบก่อนเรียน ม.2 อ่าน เขียน ร้องโน้ต